วิทยาศาสตร์ในข่าว – โรคที่แพร่เชื้อโดยยุง
นพรัตน์ พันธุ์แสง – แปล
จาก VOANews.com – Science in the News – Diseases Spread by Mosquitoes
http://www.voanews.com/specialenglish/Archive/a-2005-01-25-2-1.cfm
เขียนบทโดย แนนซี สไตน์บัค
เผยแพร่บทและกระจายเสียงในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2005
รายการประจำสัปดาห์นี้ของเรา คือ โรคที่แพร่เชื้อโดยยุง – แมลงที่คนเกลียดมากที่สุดในโลก
ยุงเป็นแมลงขนาดเล็กมาก มีมากกว่า 2,000 ชนิดแตกต่างกัน ยุงตัวเมียกัดคนเพื่อดื่มเลือด
ยุงตัวผู้ไม่ดื่มเลือด พวกมันดื่มน้ำจากต้นไม้ต่างๆ
ยุงตัวเมียใช้ท่อดูดเลือดลักษณะบางและยาวของมันแทงเข้าไปในผิวหนังเพื่อหาเลือด
ท่อเหมือนเข็มนั้นจะปล่อยสารเข้าไปในร่างกายของเหยื่อเพื่อให้เลือดไหลเข้าท่อได้
ยุงตัวเมียดื่มเลือดและใช้เลือดเพื่อผลิตไข่ของมัน การดูดเลือดครั้งหนึ่งจะได้เลือดเพียงพอที่จะผลิตไข่ได้มากถึง
250 ฟอง แล้วยุงก็จะวางไข่ในน้ำนิ่ง
ไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนในเวลา 2 วันถึง 2-3 เดือน แต่บางทีไข่ก็สามารถอยู่ในน้ำได้เป็นปีๆจน
ถึงสภาพที่เหมาะสมในการพัฒนาต่อไป ตัวอ่อนเหล่านั้นเติบโตเป็นสิ่งมีชีวิตในน้ำ หลังจากนั้น 4-10 วัน
มันจะกลายเป็นลูกน้ำ ต่อมา ลูกน้ำก็ลอยสู่ผิวน้ำ แล้วพัฒนาเป็นตัวยุงบินได้ในที่สุด
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ยุงทำให้เกิดโรคและทำให้ผู้คนถึงแก่ความตายทั่วโลกนับล้านคน ทั้ง
นี้เป็นเพราะยุงเป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆได้ อย่างไรก็ดี เชื้อโรคกลับไม่เป็นอันตรายต่อตัวยุงเอง
เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยถึงความห่วงใยต่อการแพร่ระบาดของโรค
ภายหลังเกิดเหตุธรณีวิบัติภัยครั้งร้ายแรงในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2004
แผ่นดินไหวทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนถึงหลักแสน คลื่นยักษ์ทำลายหมู่บ้านต่างๆและก่อให้เกิดน้ำท่วมบริเวณชายฝั่ง
เจ้าหน้าที่เตือนว่าสภาพน้ำท่วมขังสามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากมายซึ่งแพร่เชื้อโดยยุง
โรคร้ายแรงที่สุดที่ยุงเป็นพาหะ คือ มาลาเรีย (Malaria) <ควรออกเสียงภาษาอังกฤษว่า
มาแลเรีย – ผู้แปล> ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนได้รับเชื้อโรคนี้ในแต่ละปี และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งล้าน
คนทุกปี โรคนี้พบในแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้
เชื้อมาลาเรียเข้าสู่เลือดของมนุษย์เมื่อถูกยุงกัด เชื้อจะเดินทางเข้าสู่ตับและเจริญเติบโตขยายผลที่นั่น
หลังจาก 1-2 สัปดาห์ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดง และแพร่ขยายเป็นพันๆเท่า ทำให้ร่างกายของมนุษย์มีไข้สูง
รวมทั้งทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกาย ผู้ที่รับเชื้อมาลาเรียจะเกิดอาการไตวาย หรือการทำงานของเม็ดเลือดแดงล้มเหลว
ยาบางชนิดสามารถป้องกันและรักษาไข้มาลาเรียได้ ยาเหล่านี้ผลิตขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตในร่างกายคน
ยาที่ใช้ป้องกันมาลาเรียมากที่สุดคือ ตัวยาคลอโรควิน เมโฟลควิน และด็อกซิไซคลิน
คนเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย เพราะพวกเขาไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าเกินไป เจ้าหน้าที่
สาธารณสุขใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้
ไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นอีกโรคหนึ่งที่ยุงเป็นพาหะ
ยุงสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่แตกต่างกันได้ และยุงสามารถแพร่เชื้อโรคสู่บริเวณใหม่ๆได้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่พบเชื้อไข้เลือดออกก่อนปี 1970
แต่หลังจากนั้น เชื้อโรคนี้ได้แพร่ระบาดไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า มีผู้เป็นไข้เลือดออกประมาณ 50 ล้านคนในแต่ละปี
โรคนี้ยังไม่มีตัวยารักษาได้ เด็กๆอาจได้รับเชื้อและมีอาการไม่รุนแรงมาก อาจมีไข้สูง ผิวหนังเกิดเม็ดผื่นแดง
ผู้สูงอายุกว่าจะมีอาการรุนแรงมากกว่า อาจมีเม็ดผื่นที่ผิวหนังและสูญเสียความรู้สึกด้านรสชาติ
อาจมีอาการปวดศีรษะมาก หรือปวดตา ปวดข้อกระดูก ไหล่หรือเข่า อาการปวดที่ข้อกระดูกนี้เป็นเหตุให้โรคไข้เลือดออกถูกเรียกว่า
ไข้ปวดกระดูก (breakbone fever) ด้วย
เชื้อไข้เลือดออกที่ร้ายแรงที่สุดคือ สายพันธุ์ dengue hemorrhagic fever ผู้ได้รับเชื้อนี้จะมีเลือดออกจากจมูกและส่วนอื่นๆของร่างกาย
ผู้รับเชื้อจะตายถึง 5% การรักษาพยาบาลทำได้เพียงควบคุมการไหลของเลือด และชดเชยการสูญเสียน้ำของร่างกาย
ไข้เหลือง (Yellow fever) เป็นอีกโรคหนึ่งที่ยุงนำมา และยังไม่มียาที่ต่อต้านโรคนี้ได้ผล บรรดาแพทย์เพียงหวังว่า
ภูมิคุ้มกันของคนไข้จะแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับโรคได้ องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีผู้รับเชื้อโรคนี้ประมาณ 200,000 รายต่อปี
ส่วนใหญ่พบในแอฟริกา ตอนเหนือของอเมริกาใต้ และเกาะต่างๆในทะเลแคริบเบียน
เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุของไข้เหลือง ในระยะเวลา 2-3 วันหลังจากถูกยุงกัด ผู้รับเชื้อจะมีไข้สูง ปวด
ศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาเจียน ส่วนใหญ่คนไข้จะอาการดีขึ้นภายหลัง 3-4 วัน
อย่างไรก็ดี 15% ของผู้ได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะมีไข้สูงอีก ร่างกายซีดเหลือง มีเลือด
ออกจากจมูก ปาก ตา หรือกระเพาะอาหาร ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอาการเช่นนี้จะเสียชีวิตภายใน 10-14 วัน
มีวัคซีนป้องกันไข้เหลือง วัคซีนช่วยเพิ่มพลังให้ระบบป้องกันของร่างกายได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า
วัคซีนปลอดภัยและได้ผลดีมาก ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสามารถใช้ได้ผลอย่างน้อย 10 ปี หรือตลอดชีวิต
ยุงเป็นพาหะนำโรคลิมแฟติก ฟิลาเรียซิส หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โรคเท้าช้าง (Elephantia-
sis) มีผู้เป็นโรคนี้มากกว่า 120 ล้านคน หนึ่งในสามของผู้ได้รับเชื้อโรคนี้อยู่ในประเทศอินเดีย อีกหนึ่งใน
สามอยู่ในทวีปแอฟริกา ที่เหลือพบในเขตเอเชียตอนใต้ เขตมหาสมุทรแปซิฟิก หรือซีกโลกตะวันตก
ยุงกัดและแพร่เชื้อโรคนี้ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะได้รับเชื้อมาตั้งแต่วัยเด็ก เด็กๆจำนวนมากไม่รู้ลักษณะหรืออาการของโรค
เมื่อได้รับเชื้อสู่ร่างกายแล้ว มันจะค่อยๆทำลายระบบน้ำเหลืองและการทำงานของไต
อาการของโรคเท้าช้างที่เลวร้ายที่สุดปรากฏในวัยผู้ใหญ่ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการที่
พบคือการสูญเสียพลังแขน ขา และอวัยวะสืบพันธุ์ มียาสองชนิดที่ใช้ได้ผลในการรักษาโรคนี้ ผู้เชี่ยวชาญ
บอกว่าการรักษาความสะอาดบริเวณที่ได้รับเชื้อ ช่วยลดความสูญเสียพลังและลดอาการของโรคได้
ยังมีเชื้อโรคอีกอย่างหนึ่งที่ยุงเป็นพาหะนำมา คือ โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เชื้อโรคนี้เป็นเหตุให้สมองอักเสบหรือบวม
เชื้อไวรัสหลากหลายชนิดเป็นสาเหตุให้เกิดโรคสมองอักเสบลักษณะต่างๆกัน ไวรัสชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ในนกและม้า ส่วนยุงเป็นพาหะนำมาสู่คน
ยุงในประเทศต่างๆของทวีปเอเชียแพร่เชื้อโรคนี้ เรียกว่า Japanese encephalitis และมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้แล้ว
เชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ได้แก่ เวสต์ไนล์ เซนต์หลุยส์ และอิสเทิร์นอีควีน
ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่หากได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวก็จะไม่มีอาการ หรืออาจเจ็บป่วยแค่ 1-2 วัน แต่ผู้ที่มีระบบป้องกันโรคที่
อ่อนแอโดยธรรมชาติ เมื่อได้รับเชื้อนี้จะมีอาการรุนแรง มีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น และถึงตายได้
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ศึกษาเรื่องของยุงมากมาย เช่น ยุงสามารถรับรู้กลิ่นคาร์บอนไดออกไซด์ที่คน
หรือสัตว์หายใจออกมาได้ไกลถึง 60 เมตร ยุงชอบเลือดสัตว์มากกว่าเลือดคน
ยุงชอบสีทึบหรือมืด ยุงไม่กัดสตรีที่กำลังมีรอบเดือน แต่ยุงกัดสตรีมีครรภ์ ยุงหลายชนิดกระฉับ
กระเฉงมากที่สุดในตอนเช้าตรู่และหัวค่ำ และยุงส่วนใหญ่กินอาหารตอนกลางคืน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคที่ยุงเป็นพาหะ คือ ไม่ให้ยุงกัด
มีวิธีมากมายที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด อย่าให้มีแอ่งน้ำนิ่งอยู่ใกล้บ้านของท่าน
เก็บภาชนะทุกอย่างซึ่งอาจเป็นที่เพาะพันธุ์ยุง อยู่ในที่ที่ป้องกันยุงได้ยามที่ยุงออกหากิน สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย
วิธีอื่นๆเพื่อป้องกันยุงกัด ได้แก่ ทายากันยุงบนผิว ที่เสื้อผ้า และที่นอน กับติดตั้งตาข่าย
กันยุงที่หน้าต่างหรือกางมุ้งในตอนกลางคืน
รักษาโรค ที่แพร่เชื้อโดยยุง
เขียนโดย
Social Media News
on วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552
ป้ายกำกับ:
ที่แพร่เชื้อโดยยุง,
พาหะนำโรค,
รักษาโรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น