ebola history ประวัติเชื้อไวรัสอีโบลาและผู้ที่พบโรคนี้



นักสืบผู้ค้นพบไวรัสอีโบลา
เมื่อเดือนกันยายนปี 2519 พัสดุชิ้นหนึ่งเป็นกระติกสูญญากาศสีน้ำเงินถูกส่งไปที่สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนในเมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยียม เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการในวันนั้นคือปีเตอร์ พิออท นักวิทยาศาสตร์วัย 27 ปี ที่เพิ่งจบมาหมาด ๆ

ดร. ปีเตอร์ พิออท ซึ่งในขณะนี้เป็นผู้อำนวยการสถาบันอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอน เล่าให้ฟังว่า แพทย์คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในซาอีร์ หรือคองโกในขณะนี้ ส่งกระติกมาในกระเป๋าถือของผู้โดยสารที่บินมายังเบลเยียมโดยเครื่องบินพาณิชย์

ข้อความที่แปะติดมากับกระติกเป็นลายมือบอกว่า เป็นเลือดของแม่ชีชาวเบลเยียมที่ป่วยด้วยโรคลึกลับ พอเปิดกระติกออกพบว่าหลอดแก้วหลอดหนึ่งแตก เลือดปนกับน้ำแข็งที่ละลายอยู่ในกระติก
หลังจากตรวจสอบตัวอย่างเลือดอย่างละเอียด พบว่าเป็นไวรัสที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน เขาเล่าว่าในตอนนั้นตื่นเต้นมาก เหมือนกับว่าได้ค้นพบอะไรที่สำคัญมาก

หลังจากนั้นมีข่าวตามมาว่าแม่ชีเจ้าของเลือดเสียชีวิตแล้ว และคนจำนวนมากทางเหนือของประเทศซาอีร์ล้มป่วยด้วยโรคลึกลับ มีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เลือดออกและเสียชีวิตในที่สุด
ดร. พิออทได้เดินทางไปยังซาอีร์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมและหาทางหยุดยั้งการระบาด แพทย์ส่วนตัวของประธานาธิบดีโมบูตู ผู้นำซาอีร์ ในขณะนั้นเป็นผู้ดูแลการเดินทาง โดยใช้เครื่องบินลำเลียง c 130 ในการขนส่งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่

เมื่อเครื่องบินไปส่งคณะของดร. พิออท ที่เมืองมุมบา ซึ่งเป็นท่าเรือริมแม่น้ำคองโก นักบินประจำเครื่องบินไม่ยอมดับเครื่องยนต์ ขณะลำเลียงสัมภาระลงจากเครื่อง ก่อนไปนักบินยังบอกว่า 'Adieu' ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส คนจะบอกลากันด้วยคำว่า 'Au Revoir' ซี่งมีความหมายว่า ลาก่อน แล้วเจอกันอีกนะ แต่คำว่า 'Adieu' นั้น มีความหมายทำนองว่าลาก่อน แบบจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว

จุดหมายปลายทางของคณะของดร. พิออทคือหมู่บ้านยัมบาคู ที่เป็นที่ตั้งของคณะเผยแพร่ศาสนาคริสต์คาทอลิก ทีมงานใช้เวลาราว 3 เดือนในการศึกษาต้นตอการระบาดและหาทางยับยั้ง แม้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ก็มีผู้เสียชีวิตถึง 300 ราย พอถึงตอนตั้งชื่อโรคนี้ ทีมงานไม่ต้องการตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้าน เพราะดูไม่ดี ท้ายที่สุดจึงตกลงตั้งชื่อตามชื่อแม่น้ำแห่งหนึ่งในซาอีร์ ที่มีชื่อว่าแม่น้ำอีโบลา

38 ปีผ่านไป หลังจากการค้นพบไวรัสอีโบลา ขณะนี้ประชาคมโลกกำลังเจอกับการระบาดที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุด เพราะยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาที่ได้ผลเต็มรูปแบบ



ที่มา บีบีซี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น